
เขียนบล็อก: 23 เม.ย.2561
พฤติกรรมเสี่ยงนิ้วล็อก! กรมการแพทย์เตือน ติดโทรศัพท์ ระวังนิ้วล็อก รวมถึงแม่บ้าน ช่างไม้ ช่างทำผม นักกอล์ฟ นักเทนนิส เสี่ยงโรคนิ้วล็อก หากปล่อยทิ้งไว้ข้อต่อยึด เหยียดไม่ออก ทำให้มือพิการได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการทำงาน อัพเดทข่าวสาร แชทคุยกับเพื่อน เล่นเกมส์ ตลอดเวลา
– พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อก และพบว่าผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย รวมถึงแม่บ้านที่ซักผ้าด้วยมือ ถือถุง หิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาด ทำกับข้าว พ่อครัว แม่ค้า คนทำไร่ ทำสวน ช่างไม้ ช่างทำผม ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างที่ใช้ไขควง
เลื่อย ค้อนต่างๆ เป็นประจำ
– ผู้ที่ชอบเล่นกีฬาบางประเภท เช่น กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน
– ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์ มีความเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อก
– โรคนี้เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว มีโอกาสเป็นได้ทุกนิ้ว
– ผู้ป่วยจะมีอาการนิ้วล็อก กำมือ งอนิ้วได้ แต่เวลาเหยียดออกนิ้วใดนิ้วหนึ่งจะเหยียดไม่ออกเหมือนโดนล็อกไว้
– อาการแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีอาการปวดบริเวณฝ่ามือตรงกับโคนนิ้วมือ และมีอาการมากขึ้นเมื่อกดหรือบีบบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า
ระยะที่ 2 เมื่องอแล้วเหยียดข้อนิ้วจะสะดุด และปวดเพิ่มมากขึ้น
ระยะที่ 3 เมื่องอนิ้วลงไปแล้วจะติดล็อกไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้
ระยะที่ 4 มีอาการอักเสบบวมมากจนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อยไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ หากพยายามเหยียดจะทำให้ปวดมาก
– โรคนิ้วล็อกไม่ใช่โรคอันตราย แต่ก่อให้เกิดความรำคาญ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำข้อต่อยึดและเหยียดไม่ออก ขยับไม่ได้ พังผืดรอบข้อต่อของนิ้วยึดแข็ง ทำให้พิการได้
– นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า การรักษาโรคนิ้วล็อกจะรักษาตามระยะของอาการ
– โดยอาการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ บวม ปวด ร่วมกับการแช่น้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง และหยุดพักการใช้มือ ตลอดจนการนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบและออกกำลังกายเหยียดนิ้ว
– การรักษาในระยะที่ 3 คือ การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ปวด บวม แต่มีข้อจำกัด คือ
ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็น
– การรักษาในระยะที่ 4 จะรักษาโดยการผ่าตัด คือ ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือที่หนาให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก
– การป้องกันโรคนิ้วล็อกสามารถทำได้โดย ไม่หิ้ว หรือ ยกของหนัก ถ้าจำเป็นควรใช้ผ้าขนหนู ผ้านุ่มๆรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือแทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อมือ
– อีกทางคือวิธีการอุ้มประคอง ลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ หรือใช้เครื่องทุนแรง เช่น รถเข็น รถลาก การรดน้ำต้นไม้ควรใช้สายยางแทนการหิ้วถังน้ำ
– ไม่ควรบิดผ้าซักผ้าด้วยมือ และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะจะยึดปลอกหุ้มเอ็นจนครากและเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนิ้วล็อก ควรซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า
– การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน กรรไกร ตะหลิว อุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ควรห่อหุ้มด้ามจับ เพื่อให้ด้ามจับนุ่มขึ้น หรือใส่ถุงมือ ลดแรงเสียดสีระหว่างมือกับอุปกรณ์ต่างๆ
– การทำงานที่ต้องเกร็งมือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรพักมือเป็นระยะๆ