RSS

TDRI หวั่นฮั้วประมูล #3G สูตร 3:3:3 กสทช.เคาะรูปแบบประมูล 45MHz แข่งราคาสูงสุด 9 ใบอนุญาตพร้อมกัน

15 พ.ค.

หมดหน้าตัก! กสทช.เลือกรูปแบบประมูล 3 จี กวาดคลื่น2.1 กิ๊กฯ ที่เหลือ 45 MHz ในไทย ซอยแบ่งประมูลพร้อมกัน 9 ใบอนุญาต TDRI หวั่น ส่อฮั้วประมูลสูตร 3:3:3

15 พฤษภาคม 2555 – พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมบริหารคลื่นความถี่  2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติสรุปรูปแบบการประมูล สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ที่คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยรูปแบบการจัดช่องความถี่ครั้งนี้ มีรวมทั้งหมด 45 เมกะเฮิร์ต โดยแบ่งออกเป็น 9 ชุด (สล็อต) หรือ  9 ใบอนุญาต หนึ่งสล็อตมี 5 เมกะเฮิร์ต และกำหนดให้ผู้เข้าประมูลจะสามารถยื่นขอประมูลคลื่นได้สูงสุดไว้ที่ 20 เมกะเฮิร์ต หรือ 4 ใบอนุญาต ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับได้กับทุกเทคโนโลยี ตั้งแต่ 3G ไปจนถึง LTE

สำหรับวิธีการประมูล จะเป็นแบบ Simultaneous ascending bid auction หรือ “การประมูลด้วยวิธีเพิ่มราคาการประมูลทุกสล็อตในเวลาเดียวกัน”

“การประมูลก็จะเสนอราคากันไปเรื่อยๆๆ เราจะอนุญาตให้เสนอราคาก่อนประมุลได้เต็มที่รายละไม่เกิน 20 เมกกะเฮิร์ต แต่เวลาประมูลจริงผู้ร่วมประมูลอาจปรับลดสล็อตให้เหลือน้อยลงก็ได้ เพราะสู้ราคากันไม่ไหว ซึ่งการประมูลแบบนี้ จะเป็นการเพิ่มราคาขึ้นไปเรื่อยๆๆๆๆ ในเวลาเดียวกัน พร้อมกันทั้ง 9 ล็อต ราคาจะเพิ่มไปเรื่อยๆจนกว่าดีมาน และซับพลายเท่ากับ 9 ล็อต พอราคาประมูลเพิ่ม ผู้ประมูลจะเริ่มลดจำนวนล็อตลงเพราะราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ  และเมื่อผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดที่มี ก็จะเหลือแค่ 9 ล็อตที่เรามี ก็จะหยุดการประมูลด้วยราคาสูงที่สุด ก็จะเป็นราคาขาย ซึ่งรูปแบบนี้ เป็นวิธีไม่ซับซ้อนมีความสอดคล้องกับวิธีการที่เคยจะนำมาใช้ในการประมูลครั้งที่ผ่านมา” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนจะเสนอที่ประชุมใหญ่ กสทช.เพื่อประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับราคาตั้งต้นการประมูลนั้น กสทช.จะสรุปได้ในช่วงปลายเดือนนี้ หรือ ต้นเดือนหน้า

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต จำนวน 45 เมกฯ เป็นจำนวนที่มีเหลืออยู่ในขณะนี้ที่จะนำมาประมูล จากเดิมที่มีอยู่จำนวน 60 เมกฯ แต่ได้ให้สัมปทานบริษัท ทีโอทีไแล้ว 15 เมกฯ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอว่ากสทช.ควรกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จีให้มีมูลค่ามากกว่า 12,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกันที่เคยจัดการประมูลเมื่อปี 2553 แต่ถูกบริษัท กสท.โทรคมนาคม ฟ้องล้มประมูลในเวลาต่อมา

wqmksm.jpg

“ราคาตั้งต้นสำหรับบริการ 3 จีนั้น เป็นผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากการให้บริการสื่อสารความเร็วสูง และรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 3 จี ซึ่งจากการคำนวนของกทช.ในอดีต อยู่ที่ประมาณ 12,800 ล้านบาท ต่อคลื่นความถี่ 15 เมกกะเฮิร์ต หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท ต่อ คลื่นความถี่ 1 สล็อต หรือ 5 เมกกะเฮิร์ตแต่ผลประโยชน์นี้เป็นเพียงส่วนเดียวที่ผู้ประกอบการจะได้รับ

แต่ผลประโยชน์อีกส่วนคือการโอนถ่ายลูกค้า จากโครงข่าย 2 จี ไปยัง 3 จี ซึ่งตรงนี้มีผลประโยชน์ที่คิดเป็นค่าสัมปทานในส่วนที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 48,000 ล้านบาท  แต่หลังจากมีประมูล 3 จีแล้วไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ ดังนั้น ส่วนตัวจึงเห็นว่าราคาตั้งต้นการประมูล 3 จี ไม่ควรน้อยกว่าการกำหนดราคาประมูลครั้งที่ 12,800 ล้านบาท ต่อ 15 เมกฯ  หรือ 4,300 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต 1 สล็อต  5 เมกกะเฮิร์ต”

ซึ่งราคาประมูลนี้ เป็นสิ่งที่จะไม่กระทบต่อการให้บริการต่อผู้บริโภค

สำหรับการออกแบบการประมูล สำหรับกสทช.ภายในเงื่อนไขที่ยังไม่มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมในปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดฮั้วประมูลกันได้ ซึ่งวิธีที่แบ่งใบอนุญาตแบบที่กสทช.เลือกนั้น อาจทำให้เกิดแข่งขันในการประมูล แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงว่า ผู้ประกอบการอาจสมคบกัน ตกลงกันเอาคนละ 3 สล็อต  3 ราย ซึ่งจะได้เท่ากัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันกัน และทำให้ได้คลื่นความถี่ไปเท่ากัน  แต่ทำให้เกิดการฮั้วเกิดขึ้นได้ ซึ่งวิธีแบบนี้กสทช.ยิ่งต้องกำหนดราคาตั้งต้นประมูลไม่ให้ต่ำกว่าการประมูลครั้งที่แล้ว ซึ่งผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับ เฉพาะ 3 จีนั้น ก็มีผลประโยชน์จำนวนมาก

“นี่คือการเอาทรัพย์สินของประชาชน ของประเทศชาติไปให้เอกชนใช้ประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของกสทช.จะต้องรักษามูลค่าเม็ดเงินที่จะเข้าสู่รัฐและประชาชนให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และกำหนดราคาประมูลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม” นายสมเกียรติ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังเสนอว่า กสทช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเป็นเงื่อนไขร่วมกับการประมูลไปด้วย เช่น การกำหนดสิทธิแห่งทาง, หลักเกณฑ์การใช้โครงข่ายร่วมกัน โดยผลการศึกษาพบว่าต้นทุนการให้บริการโทรศัพท์เคลืื่อนที่ 3 จี และ 2 จี ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่งานโยธา มากกว่าการลงทุนด้านอุปกรณ์ ซึ่งวิธีทำให้ 3 จีมีราคาถูก คือการอำนวยความสะดวกในการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สะดวกที่สุด  และสนับสนุนให้เกิดการใช้โครงข่ายร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งควรกำหนดระเบียบชัดเจนว่า ผู้ประมูลคลื่น 3 จี มีหน้าที่ให้ผู้อื่นใช้โครงสร้างพื้นฐานหรือเสาต้นเดียวกันได้ แล้วไปแข่งขันที่การให้บริการ จะเป็นวิธีลดการลงทุนซ้ำซ้อนเรื่องการลงทุนเสา และทำให้การวางโครงข่ายทั่วประเทศเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และให้บริการผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง

fy0ux.jpg

นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร”ดีแทค” ระบุว่า การประมูลครั้งที่แล้ว มีราคาเริ่มต้น 12,000 ล้านบาท แต่ปีนี้คิดว่ามูลค่าน่าจะลดลง เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการวางโครงข่ายต่างๆ ค่อนข้างมีความพร้อมมากกว่า 2 ปีที่แล้ว ซึ่งดีแทคเองก็มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ แต่ต้องดูเงื่อนไข หรือตัวแปรหลายอย่างประกอบ เช่น การตั้งราคามูลค่าเริ่มต้น , เงื่อนไข เช่น การให้ใช้โครงการสร้างพื้นฐานร่วมกันหรือไม่, ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เป็นอย่างไร ซึ่งมูลค่าของคลื่นความถี่จะผันแปรไปตามเงื่อนไขเหล่านี้

“เรามั่นใจในความตั้งใจของกระทรวงไอซีที และกสทช.ว่าต้องการจะเห็นการประมูลครั้งนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าคนไทยทุกคนรอคอยว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี 3 จีใช้อย่างแพร่หลายและทั่วถึง ซึ่งตอนนี้มีไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่มี 3 จีใช้อย่างแพร่หลาย และทั่วถึงเมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หลายประเทศกำลังก้าวไปสู่ 4 จีเต็มรูปแบบ”

 

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน พฤษภาคม 15, 2012 นิ้ว กสทช., เรื่องราว 3G

 

ป้ายกำกับ: , , , , , , ,

ใส่ความเห็น